“อย.” เตือนประชาชนระวังยาปลอมช่วงโควิด-19 ระบุยาสมุนไพรจีนที่ได้รับการรับรองมีเพียงยี่ห้อเดียว

ที่มา: Spring News และเดลินิวส์ (13 มิ.ย. 2565)

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า พบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เข้ามายื่นจดทะเบียนกับ อย.ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเสริมมากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้หากระบุส่วนประกอบที่ไม่เป็นอันตราย ไม่มีสารเคมีเจือปนก็จะได้รับการพิจารณาได้เร็ว โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ระบุสรรพคุณว่านำไปรักษาโรคอะไรได้ บอกเพียงส่วนประกอบเหมือนอาหารเสริมทั่วไป แต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มาขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพร ตาม พ.ร.บ.สมุนไพรจะมีขั้นตอนการตรวจสอบวิจัยมากกว่า โดยผลิตภัณฑ์ที่มาจดทะเบียนเป็นยาสมุนไพร จะต้องระบุสรรพคุณ อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบในปัจจุบันคือการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ที่มาจดทะเบียนอาหารเสริมที่ได้เลข อย. แต่นำไปโฆษณาเกินจริงว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะผิด พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ และการโฆษณาเกินจริง

“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสารปนเปื้อนอันตรายและของปลอมถือว่าดีขึ้น โดย อย. มีการจัดการไล่ตรวจผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ ว่ามีส่วนผสมของสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ รวมถึงการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย.ที่ชัดเจน ทำให้หลายบริษัทหลีกเลี่ยงหรือหยุดกระทำผิด เนื่องจากมีบทลงโทษชัดเจนตั้งแต่ปรับเป็นเงินจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต จึงไม่คุ้มหากจะกระทำผิด แต่ที่ยังมีการกระทำผิดค่อนข้างมากคือการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เนื่องจากกฎหมายเก่าและล้าหลังหลายปี”

นอกจากนั้นปัจจุบันสื่อโฆษณาก็มีหลายแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทำให้การเฝ้าติดตามและระวังทำได้ไม่ครอบคลุม แม้ อย.จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อคอยตรวจจับก็ตาม โดยเน้นไปที่รายใหญ่และมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก รวมทั้งการโฆษณาเกินจริงจนมากเกินไป แต่หลายบริษัทที่กระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายและถูกจับได้จะใช้วิธีเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะบริษัทเหล่านี้บางรายมีเครือข่ายในต่างจังหวัด หรือตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นมารับดำเนินการแทน เนื่องจากโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต บริษัทเหล่านี้จึงไม่เกรงกลัว

นพ.สุรโชค ได้ย้ำว่า อย. ได้พยายามให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการรับประทานอาหารและยา จำเป็นต้องตรวจสอบสรรพคุณได้จากเว็บไซต์ และแอปฯ ของ อย. และฝากเตือนประชาชนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีการโฆษณานั้นก่อน และตรวจสอบเลขทะเบียน อย. ดูฐานข้อมูลทั้งส่วนประกอบ และสรรพคุณมีระบุไว้จริงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของ อย. ว่ามีสรรพคุณตรงกับที่มีการโฆษณาไว้หรือไม่ ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ทันสังเกตเมื่อซื้อยามารับประทานเองอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาอาการสมุนไพรจีนมีเพียงยี่ห้อเดียวผ่าน อย.

นพ.สุรโชค ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน มีสมุนไพรที่มาจดทะเบียนเป็นยา โดยของไทยจะมีฟ้าทะลายโจรที่จดทะเบียนแบบฉุกเฉินในการรักษาโควิด-19 ส่วนสมุนไพรจีนที่มายื่นจดทะเบียนเป็นยาสมุนไพรมีเพียงยี่ห้อเดียวที่รับการอนุมัติจาก อย. คือ ยาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล ซึ่งได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ของไทย ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อใช้บรรเทาอาการจากไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำมูก คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ปวดหัว สามารถช่วยบรรเทาอาการโควิด-19 ได้ คล้าย ๆ การใช้ฟ้าทะลายโจรของไทย และแม้ว่าจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาฉุกเฉินรักษาโควิด-19 แต่ความต้องการยาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

ด้านดร.เว่ย ชง ผู้อำนวยการสาขาการแพทย์แผนจีน สถาบันวิจัยการแพทย์และเภสัชกรรม Yiling มณฑลเหอเป่ย กล่าวว่า เหลียนฮัว ชิงเวิน เป็นยาแพทย์แผนจีนในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นยาจีนโบราณที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งผลิตโดยบริษัท Yiling Pharmaceutical ใช้สำหรับการป้องกันและรักษาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และใช้บรรเทาอาการจากโรคโควิด-19

เหลียนฮัว ชิงเวิน ได้รับการพัฒนาโดยใช้ทฤษฎี Collateral Disease Theory ของการแพทย์แผนจีนในการศึกษากลไกและวิธีการรักษาโรคไข้จากภายนอกและโรคระบาดอื่น ๆ มีสรรพคุณในการระบายความร้อนปอด ขจัดพิษร้อน สูตรนี้ใช้ประสบการณ์ของการแพทย์แผนจีนในการป้องกันและรักษาโรคระบาดที่สะสมมากว่า 2000 ปี และผสมผสานสาระสำคัญทางยาของแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสามราชวงศ์ สามารถแก้ปัญหาอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยสูงอย่างต่อเนื่อง บรรเทาอาการไอ หายใจลำบากของผู้ป่วย ยับยั้งไวรัสไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่

ก่อนหน้านี้ Yiling Pharmaceutical และ Enwei Group Co., Ltd. ผู้นำเข้าที่ถูกกฎหมายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมโดยระบุว่า บรรจุภัณฑ์ทั้งภายนอกและภายใน เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูลในประเทศไทยมีการพิมพ์เครื่องหมายการค้าของ YILING และ ENWEI และมีคำอธิบายที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย หากมีผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์ไม่ตรงกับดังกล่าว ถือว่าเป็นยาปลอมหรือยาเลียนแบบ